วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การจัดการขั้นเรียนเเละสิ่งเเวดล้อมการเรียนรู้

การจัดการชั้นเรียนเเละสิ่งเเวดล้อมการเรียนรู้
ความหมายของการจัดการชั้นเรียน 
               การจัดการชั้นเรียน  คือ การจัดสภาพของห้องเรียน ทางด้านกายภาพหรือการตกแต่งห้องเรียนด้วยวัสดุตกแต่งเพื่อเป็นการจูงใจนักเรียนให้มีความสนใจและตั้งใจเรียน  นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดการชั้นเรียนเท่านั้น  หากแต่ต้องมีการสร้างสรรค์และเอาใจใส่สภาพบรรยากาศภายในห้องเรียนด้วยเช่นกัน    ครูจึงเป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในการรับหน้าที่เป็นผู้สร้างและส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอน  กระตุ้นความใฝ่รู้และใส่ใจในการศึกษาของผู้เรียน  สร้างความมีระเบียบวินัยให้กับผู้เรียน  อีกทั้งต้องคงสภาพสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เพื่อช่วยให้การสอนในชั้นเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลแก่ผู้เรียนอย่างยั่งยืน  
ความสำคัญของการจัดการชั้นเรียน
         จะพบว่าการบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ อันจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนและการร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องเรียน และนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุดการจัดการชั้นเรียนมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ คือ
        - การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้หรือเกิดได้น้อยถ้ามีสิ่งรบกวนในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญหาทางด้านพฤติกรรมของนักเรียน
        - นักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนมีเสียงดังและสิ่งรบกวน หรือการจัดที่นั่งไม่เหมาะสมอาจเกิดสาเหตุให้เกิดปัญหาทางวินัยนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือทำให้นักเรียนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
        - การกำหนดคุณลักษณะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของนักเรียนไว้ล่วงหน้าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการชั้นเรียน เพราะจะทำให้นักเรียนมีแนวทางในการควบคุมพฤติกรรมของตนเองโดยไม่แสดงอาการหรือพฤติกรรมที่จะเป็นการรบกวนการเรียนของผู้อื่น
        - ชั้นเรียนที่มีการจัดการกับพฤติกรรมของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ครูสามารถดำเนินการสอนได้อย่างเต็มที่โดยไม่เสียเวลากับการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน
        - การจัดการชั้นเรียนให้นักเรียนมีวินัยในการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทรโดยคำนึงถึงกฎระเบียบของชั้นเรียนอย่างต่อเนื่อง
         ดังนั้นจึงอาจสรุปความสำคัญของการจัดชั้นเรียนได้ว่า เป็นการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียน เพื่อกระตุ้น ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้และสร้างเสริมผู้เรียนในด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี 
องค์ประกอบของการบริหารจัดการชั้นเรียน
        1. องค์ประกอบด้านกายภาพ หมายถึง สิ่งอำนวยความสะดวกภายในชั้นเรียนจัดให้มีไว้อย่างเพียงพอ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน กระดานดำ บอร์ดสำหรับจัดนิทรรศการ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การจัดเตรียมการในด้านวัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นไว้อย่างครบถ้วน และมีคุณภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา
         2. องค์ประกอบด้านสังคม หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในรูปแบบต่างๆ ตามกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ผู้สอนกับผู้เรียนได้ช่วยกันทำงาน ผู้เรียนทำงานกันเป็นกลุ่ม ผู้สอนสาธิตให้ผู้เรียนได้ศึกษาสังเกต
          3. องค์ประกอบด้านการศึกษา หมายถึง การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ความรู้ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน พร้อมทั้งให้ผู้เรียนมีกาสวางแผนการเรียนร่วมกับผู้สอน และให้ผู้เรียนได้ตระหนักในคุณค่าของความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากผู้สอน หรือการศึกษาค้นคว้าตามที่ได้รับมอบหมายให้เต็มตามอัตภาพ ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจัดการศึกษาในส่วนของการจัดการชั้นเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเรียนรู้ คือ ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ให้เป็นไปตามอัตภาพและผู้เรียนสามารถพัฒนาได้โดยให้ความสำคัญไปที่การบริหารจัดการชั้นเรียน เนื่องจากชั้นเรียนเป็นสถานที่อยู่ของผู้เรียนตลอดระยะเวลาของการมาเรียนที่โรงเรียน สำหรับองค์ประกอบด้านกายภาพและด้านสังคม เป็นส่วนส่งเสริม สนับสนุนให้องค์ประกอบด้านการศึกษาของผู้เรียนได้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน
  
สี่เสาหลักทางการศึกษา
          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ยึดแนวทางการเรียนรู้ 4 แบบ ที่เป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิต มุ่งจัดการ
ศึกษาให้กับผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนี้
       1.การเรียนเพื่อรู้(Learning to know) หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนากระบวนการคิด กระบวนการเรียนรู้
การแสวงหาความรู้และวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต
       2.การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง(Learning to do) หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนาความสามารถและความชำนาญ รวมทั้งสมรรถนะทางด้านวิชาชีพ กระบวนการเรียนการสอนบูรณาการระหว่างความรู้ ภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติงานที่เน้นประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสภาพในท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ หรืออาจเป็นการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน โดยใช้หลักสูตรซึ่งประกอบด้วยการเรียนในภาคทฤษฎีสลับกับการเรียนฝึกปฏิบัติงาน
       3. การเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน(Learning to Live Together)       หมายถึง การศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข มีความตระหนักในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มีความเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าใจความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ของแต่ละบุคคลในสังคม สอนให้เข้าใจผู้อื่นและตระหนักดีว่า มนุษย์เราจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการร่วมกันและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ โดยชี้ให้เห็นว่าความหลากหลาย ความเข้าใจอันดีต่อกัน และสันติภาพนั้นล้ำค่าและคู่ควรแก่การหวงแหน
       4. การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be) หมายถึง การศึกษาที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกด้านทั้งจิตใจและร่างกาย สติปัญญา ให้ความสำคัญกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ศีลธรรม สามารถปรับตัว และปรับปรุงบุคลิกภาพของตน เข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถปรับปรุงบุคลิกภาพของตนให้ดีขึ้นดำเนินงานต่างๆ โดยอิสระเสรียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น